; ภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชาย (Andropause Testosterone deficiency syndrome) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชาย (Andropause Testosterone deficiency syndrome)

       

        ชายวัยทอง คือ ภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชาย หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่แสดงความเป็นชาย เช่น ทำให้มีกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแรง มีขน ผม เครา ที่ดกดำ แสดงลักษณะของอวัยวะเพศชายที่สมบรูณ์ ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกความเป็นชาย

        ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ร้อยละ 95 ผลิตจากอัณฑะทั้ง 2 ข้าง อีกร้อยละ 5 ผลิตจากต่อมหมวกไต (adnenal glands) ซึ่งถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมอง ให้ผลิตฮอร์โมนได้ปกติ ดังนั้น ถ้าอัณฑะหรือต่อมใต้สมองผิดปกติไปก็จะทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายได้

        โดยทั่วไปผู้ชายเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะค่อย ๆ ลดต่ำลงร้อยละ 1-2 ต่อปี โดยพบว่า 50 % ของผู้ชายที่อายุ 60 ปีขึ้นไป  มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดต่ำลง อาการของผู้ที่พร่องฮอร์โมนนั้นมีหลากหลาย ไม่เจาะจงและอาจเกี่ยวข้องกับอาการของโรคอื่นๆได้

ภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชายนั้นแสดงออกมาหลายกลุ่มอาการ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และครอบครัวอย่างมาก

อาการแสดง 

        เช่น ความรู้สึกทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หงุดหงิดง่าย นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย รู้สึกทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่มีความภูมิใจในชีวิต รู้สึกตัวเตี้ยลง มีภาวะ Metabolic Syndrome (อ้วนลงพุง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง) รู้สึกแก่ลงผิดปกติ กล้ามเนื้อลีบลง กระดูกพรุนกระดูกยุบ ร้อนวูบวาบ

         ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงกับภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายนอกจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประวัติพันธุกรรม มีคนในครอบครัวเคยเป็นกลุ่มอาการนี้ เครียดจากการทำงาน พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ โรคอ้วน ป่วยโรคเรื้อรัง (โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง) รับประทานยาไทรอยด์ โรคขาดสารอาหาร อุบัติเหตุหรือเคยผ่าตัดสมอง / อัณฑะ 

การวินิจฉัย 

        เริ่มจากการที่ผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวสังเกตอาการเข้าข่ายภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชายหรือไม่ หลังจากนั้นควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอิสระ โดยจำเป็นต้องตรวจในช่วงเวลาตอนเช้าก่อน 11.00 น.


 การรักษา 

        ผู้ป่วยภาวะพร่องของฮอร์โมนเพศชายก่อนรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนจำเป็นอย่างมาที่ต้องตรวจ เรื่องความเข้มข้นของเลือด  มะเร็งต่อมลูกหมาก  มะเร็งเต้านมในเพศชาย ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาการต่อมลูกหมากโตรุนแรง และภาวการณ์ทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ เนื่องจากเป็นข้อห้ามของการใช้ฮอร์โมนทดแทน การใช้ฮอร์โมนทดแทนจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง

        ฮอร์โมนทดแทนมีได้หลายรูปแบบ เช่น กินยา อมยาใต้ลิ้น ฉีดยา แผ่นแปะ เจลทา เป็นต้น ซึ่งเหมาะสมกับแต่ละบุคคลต่างกัน เมื่อได้ฮอร์โมนทดแทนแล้ว อาการต่าง ๆ รวมทั้งผลของโรคในกลุ่ม Metabolic syndrome จะดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ความต้องการทางเพศและสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น ความจำดี กล้ามเนื้อแข็งแรง ลดการเกิดกระดูกพรุน

        นอกจากการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรงสมบรูณ์ขึ้น เช่น ลดการทำงานที่ก่อให้เกิดความเครียด ทำให้จิตใจแจ่มใส รับประทานอาหารครบ หมู่ ลดอาหารจำพวกไขมัน แป้ง น้ำตาล และเนื้อสัตว์ งดบุหรี่ สุรา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพทั่วไปเป็นระยะ นอกจากนี้บุคคลรอบข้างควรมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย เป็นกำลังใจในยามที่ผู้ป่วยมีอาการของภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย โรคนี้สามารถรักษาได้ เพียงแต่ต้องได้รับการรักษาและติดตามอย่างถูกวิธี เท่านี้ความสุขในชีวิตและความสุขของครอบครัวก็จะกลับมาดังเดิม